logoedukey

Food Stylist อาชีพว่าด้วยอาหารและศิลปะ

6 กันยายน 2566Peerapong Jamnongแนะแนวอาชีพ 58

แชร์บทความนี้

Food Stylist อาชีพว่าด้วยอาหารและศิลปะ

    วันนี้ Edukey ได้มีโอกาสพูดคุยกับ Food Stylist เจ้าของผลงานภาพถ่ายอาหารเพื่อการโฆษณามากมาย คุณฝัน พิมฝัน ใจสงเคราะห์ มาทำความรู้จักอาชีพนี้ไปพร้อมกัน ว่าเราจะสามารถทำเงินจากการจัดจาน วางอาหารได้อย่างไร ??

นิยามของอาชีพ Food Stylist 

    Food Stylist คืออาชีพที่มีหน้าที่จัดจาน ตกแต่งอาหารให้สวยที่สุด เปรียบอาหารเป็นแบบแล้ว Food Stylist เป็นคนแต่งตัว รวมไปถึงหาพร๊อพให้ส่งเสริมอาหารนั้น ๆ ดูสวยงามขึ้น เพื่อการถ่ายภาพนำไปใช้ในการเล่าเรื่อง การโฆษณา และอื่น ๆ 

    ความท้าทายในงานคือโจทย์อาหารจากลูกค้าไม่ซ้ำ เปลี่ยนเทคนิคไปเรื่อย ๆ เช่น อาหารเป็นน้ำแข็งไสที่ลูกค้าต้องหารให้ถ่ายจากของจริง ซึ่งละลายง่าย และใช้เวลาทำนาน Food Stylist ต้องแก้ปัญหาให้ใช้เวลาน้อยที่สุด และภาพออกมาดีที่สุด ตามความต้องการของลูกค้า


​“เป็นงานที่สนุก มีความท้าทาย คือก่อนเริ่มงานคิดและวางแผนอย่างดี ถึงมีปัญหาหน้างานก็ต้องแก้ให้ได้ ต้องใช้ไหวพริบ ประสบการณ์และสมองอยู่ตลอดเวลา”


อาชีพนี้ควรมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองไหม ? 

    การทำงานด้านศิลปะ การมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในการดึงดูดลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย แล้วในการเป็น Food Stylist จำเป็นหรือไม่ ? ที่ต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง คุณฝันแนะนำว่า ‘ถ้ามีก็ดี ขึ้นอยู่กับคาแรกเตอร์ส่วนตัวแต่ละคน’ การมีแนวทาง มีเอกลักษณ์ในการทำงาน เหมือนการสร้างลายเซ็นขงตัวเองไว้บนผลงาน จะเกิดเป็นเอกลักษณ์ได้ สามารถดูได้จากความชอและความสนใจของตัวเอง สำหรับคนที่ยังหาตัวตนไม่เจอ ค่อย ๆ ค้นไป ใช้วิธีดูว่าตัวเองชอบอะไร ในชีวิตประจำวันชอบสังเกตอะไร สนใจอะไรเป็นพิเศษ จะช่วยให้หาตัวตนได้ชัดเจนมากขึ้น

Food Stylist ต้องทำอาหารเป็นไหม 

    แม้จะทำงานกับอาหาร จัดให้ดูสวยงาม Food Stylist ไม่จำเป็นต้องทำอาหารเป็น เพราะการเข้าใจอาหาร จำเป็นกว่าการทำอาหาร หรือคือการรู้เทคนิคให้อาหารออกมาสวย สดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแนวการหั่น การปอก วิธีให้อาหารไม่มีสีคล้ำต่าง ๆ 

    นอกจากนี้แล้วยังควรมีทักษะความรู้ด้านศิลปะ องค์ประกอบศิลป์ การจัดวาง แสงเงา ต่อมาคือการใฝ่รู้ เปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะงานของ Food Stylist ไม่ใช่แค่ตกแต่งอาหารให้สวยแต่ต้องเล่าเรื่องด้วย อาหารจากต่างถิ่น อาจมีวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างไป พร้อมเรียนรู้จึงเป็นทักษะที่สำคัญเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่เหมาะสม ถูกต้อง อีกทักษะที่มีจะช่วยในการทำงานอย่างมาก คือทักษะการใช้กล้อง การจัดแสงเงา ทักษะนี้จะช่วยให้พูดคุยและวางแผนการถ่ายทำกับช่างภาพได้ง่ายและแม่นยำขึ้น นอกจากนี้คือทักษะการวางแผน และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า


“เมื่อได้มองลึก ๆ ในการทำงาน Food Stylist ไม่ใช่แค่การทำงานกับอาหาร การจัดวางให้สวยงามและเล่าเรื่อง แต่ต้องจัดการเวลา จัดการโปรดักชั่น งบประมาณด้วย ให้คุ้มค่ามากที่สุด”


Food Stylist ทำงานแบบนี้ 

    การทำงานเป็น Food Stylist สิ่งที่จะได้ทำแน่นอนคือทำการสื่อสารเกี่ยวกับอาหาร ให้เห็นความหมาย ความสวยหรือความน่ากินตามความต้องการของลูกค้าหรือ Food Stylist เอง ขั้นตอนการทำงานก็จะเริ่มจากการรับโจทย์จากลูกค้าที่เป็นร้านหรือแบรนด์อาหาร โดยต้องรู้ว่าขายอะไร Concept ร้านคืออะไร ทำความเข้าใจลูกค้า จากนั้นทำ Pre-production คือการร่างแบบภาพคร่าว ๆ ให้ลูกค้าเลือกแบบ ว่าลูกค้าอยากได้แบบไหน แบบในที่นี้จะมีการสื่อสารที่ต่างกันไป ร่างเพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพและทำให้เห็นภาพตรงกันมากที่สุด แล้วจึงนำแบบที่ลูกค้าเลือกนั้นมาลงรายละเอียด พื้นหลังใช้อะไร จาน ชามแบบไหน และเวลาในการทำงานต่อช็อตกี่นาที คำนวณให้ลูกค้าไปจนถึงวัน เวลา และงบประมาณ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปจะเป็นการลงมือทำตามแผน อาจจะมีปัญหาหน้างาน ก็ต้องแก้ไขให้ได้ในเวลา จึงจะจบด้วยการส่งงานที่เสร็จสมบูรณ์ให้ลูกค้า นำไปใช้ประโยชน์หรือเผยแพร่ 

    ลักษณะงานในปัจจุบัน มีเอกลักษณ์ ดึงดูด น่าสนใจ แปลกตา งานเหล่านี้มักจะทำให้ผู้คนสนใจได้ไม่ยาก คุณฝันเองก็บอกว่าช่วงนี้งานที่ตัวเองชอบและถนัดที่จะทำคืองานถ่ายภาพ Concept ที่ไม่ได้ชูเพียงตัวอาหาร เป็นการเล่าเรื่องมากกว่า ให้ภาพอาหารสื่อสารแทนตัวหนังสือ เช่น งานพริกเผาแบบบีบของแม่ประนอม ที่ต้องการสื่อสารความง่ายในการกินพริกเผาที่ไม่ต้องกินจากขวดแก้วอีกแล้ว จะทำงาน จะรีดผ้าอยู่ ก็ใช้อีกมือบีบน้ำพริกเผาของแม่ประนอมได้ เป็นต้น


Food Stylist ให้มากกว่างานกับเงิน 

    เมื่อได้คุยกับคุณฝันไปเรื่อย ๆ เราได้เห็นความสุข ความตื่นเต้น และความสนุกในงาน Food Stylist นี้มากมายทีเดียว ไม่ได้เป็นเพียงอาชีพที่ให้รายได้ แต่เมื่อได้มีความชอบ ความหลงใหลอยู่ในงานจึงทำให้ทำงานออกมามีประสิทธิภาพ คุณฝันยังเพิ่มเติมอีกว่า 

‘อาชีพนี้ให้ประสบการณ์ที่ไม่มีสอนในตำรา และต้องรู้จักการเรียนรู้เอง ค้นคว้าสังเกตเอง เพราะอาชีพนี้ไม่มีแพทเทิร์นที่ตายตัว สามารถทำรูปแบบของตัวเองได้ รวมถึงอาชีพอื่นด้วย เป็นสิ่งที่ทำให้ต่อยอดเองได้เรื่อย ๆ’ 

    นอกจากนี้แล้ว คุณฝันยังแนะนำถึงการฝึกฝนเพื่อเป็น Food Stylist ที่ดีขึ้นด้วยการขยันดูรูป ขยันวิเคราะห์งานศิลป์ งานภาพถ่ายเยอะ ๆ ตั้งคำถามกับภาพที่เห็นว่าสวย ว่ามันสวยอย่างไร สวยที่เล่าเรื่อง หรือการจัดวาง พร็อบในภาพเกี่ยวข้องกับอาหารอย่างไร ช่วยทำให้มองภาพไปตีความไปเรียนรู้ไป นอกจากนี้คือการศึกษาเรื่องอาหาร วัฒนธรรมการกินในแต่ละพื้นที่ และต้องพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ


​“สังเกตด้วยว่าเราชอบอะไรบ้าง เราก็แค่ทำในสิ่งที่เราชอบมันก็จะออกมาได้ดีโดยไม่ฝืน”